Last updated: 18 ธ.ค. 2565 | 576 จำนวนผู้เข้าชม |
มอเตอร์เป็นเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่หมุนได้โดยอาศัยหลักการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็ก เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกล ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆคือ ส่วนที่อยู่กับที่เรียกว่าสเตเตอร์ (Stator) และส่วนที่หมุนเรียกว่าโรเตอร์ (Rotor)
มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสามารถจัดเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ มอเตอร์กระแสตรงและ มอเตอร์กระแสสลับ มอเตอร์กระแสสลับ ที่ใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ มอเตอร์เหนี่ยวนำ (Induction Motor)
มอเตอร์กระแสตรง
ใช้หลักการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงเข้าทั้งขดลวดที่อยู่กับที่และที่เคลื่อนที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าผลักดันขึ้นทำให้มอเตอร์หมุน สามารถควบคุมความเร็วรอบได้อย่างแม่นยำ จึงใช้ในงานที่ต้องการความแม่นยำในการควบคุมความเร็วรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักรขนาดใหญ่
มอเตอร์กระแสสลับ
เป็นมอเตอร์ที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากราคาไม่สูง บำรุงรักษาน้อย และไม่จำเป็นต้องมีชุดขับเคลื่อนเหมือนมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง โครงสร้างของมอเตอร์เหนี่ยวนำประกอบด้วยขดลวดชุดที่อยู่กับที่ (Stator) และตัวนำอยู่ที่โรเตอร์ สนามแม่เหล็กที่สเตเตอร์จะเหนี่ยวนำให้กระแสไหลและเกิดสนามแม่เหล็กที่โรเตอร์ สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวนำทั้งสองชุดดึงดูดกัน ทำให้เกิดการหมุน ด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องการบำรุงรักษาที่ง่าย และเทคโนโลยีการควบคุมความเร็วรอบที่ดีขึ้น ทำให้มอเตอร์เหนี่ยวนำถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง
หลักการทำงาน
มอเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกล มอเตอร์มีหลายขนาด หรือ พิกัด ตั้งแต่ขนาดไม่กี่สิบวัตต์จนถึงหลายเมกกะวัตต์ ขนาดของมอเตอร์จะพิจารณาที่กำลังงานทางกลที่มอเตอร์ตัวนั้นออกแบบมาให้ทำงานได้สูงสุด เช่น มอเตอร์ขนาด 45 กิโลวัตต์จะออกแบบมาให้จ่ายกำลังงานกลได้สูงสุด 45 กิโลวัตต์ มิได้หมายความว่ามอเตอร์ไฟฟ้ากินไฟ 45 กิโลวัตต์
กำลังไฟฟ้าที่มอเตอร์ใช้จะขึ้นอยู่กับภาระทางกลของมอเตอร์นั้น ถ้าภาระทางกลมากจะใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและต่ำลงเมื่อภาระทางกลลดลง พลังงานไฟฟ้าที่มอเตอร์ใช้จะขึ้นกับกำลังไฟฟ้า (กิโลวัตต์) ที่มอเตอร์ใช้และช่วงเวลาที่ทำงานถ้ากำลังไฟฟ้าสูงก็จะใช้พลังงานมากหรือชั่วโมงการทำงานสูงก็จะใช้พลังงานมากเช่นกัน
2 ธ.ค. 2565